รู้จัก ‘มูกปากมดลูก’ สัญญาณบ่งบอกการเจริญพันธุ์ของคุณ

โดย Chloe Skerlak บุคลากรด้านสุขภาพระบบสืบพันธุ์ผู้เชี่ยวชาญ Justisse Method และผู้เชี่ยวชาญด้าน Fertility Awareness

กาวน้ำ
น้ำมันมะพร้าว
กาวแท่ง
เจลจากแฟล็กซีด
เจลหล่อลื่น
โลชั่น

เหล่านี้คือตัวอย่างของสิ่งที่ฉันใช้อธิบายลักษณะของมูกปากมดลูกหรือ cervical mucus เมื่อสอนเรื่องภาวะเจริญพันธุ์ค่ะ

มูกปากมดลูกคือน้ำทิพย์แห่งภาวะเจริญพันธุ์จริงๆ! เราจะพบมูกที่ร่างกายหลั่งออกมาอยู่บริเวณฝีเย็บหรือกระดาษชำระ (ถ้ามูกไม่ได้หลุดไปก่อนตอนเราฉี่หรืออึ๊นะ)

คุณเคยเห็นมูกปากมดลูกมาก่อนไหมคะ บางคนบอกฉันว่าเคยเห็นแต่ไม่ได้สนใจอะไร และบางคนก็ยอมรับว่าสับสนระหว่างมูกปากมดลูกกับอาการติดเชื้อราในช่องคลอด (yeast infection) หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STI) แต่จริงๆ แล้ว มูกปากมดลูกเป็นสิ่งปกติ ช่วยบ่งบอกว่าเราสุขภาพดี และเป็นส่วนสำคัญของรอบเดือนเราเลย

‘มูกปากมดลูก’ คืออะไรกันแน่?

มูกปากมดลูกคือไฮโดรเจลที่ประกอบด้วยโมเลกุลของเยื่อเมือก น้ำ เอนไซม์ โครงสร้างโปรตีน และองค์ประกอบทางชีวเคมีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโซเดียม คลอไรด์ และโพแทสเซียม¹ มูกปากมดลูกมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า cervical mucus หรือ cervical fluid เนื่องจากเป็นมูกที่ออกมาจากปากมดลูก (cervix)

ปากมดลูกเป็นทางเข้าออกที่เชื่อมระหว่างช่องคลอดและมดลูก ทำหน้าที่เป็นลิ้นเปิดปิด โดยจะเปิดหรือปิดก็ขึ้นอยู่กับรอบเดือนของคุณ² ลองสอดนิ้วที่ยาวที่สุดเข้าไปในช่องคลอดระหว่างที่นั่งท่ายอง แล้วคุณก็จะพบกับปากมดลูกของคุณ

มูกปากมดลูกอาจมีลักษณะเป็นยางยืดคล้ายไข่ขาวดิบ หรือเหนียวคล้ายกาวแท่ง มีทั้งแบบใส ขุ่น ขาวขุ่น สีแดง สีชมพู หรือสีเหลืองอ่อน บางครั้งมูกมีน้ำเป็นส่วนผสมปริมาณมาก จึงไม่สามารถจับขึ้นมาได้ (ปริมาณน้ำในมูกอาจสูงถึง 99 เปอร์เซ็นต์!³) แต่คุณจะรู้ได้ทันทีว่าคือมูก เมื่อเช็ดแล้วรู้สึกถึงของเหลวลื่นๆ ที่ลื่นจนบางครั้งทำเอาข้อศอกคุณกระแทกกับฝาชักโครกหลังเช็ดทำความสะอาด ซึ่งเป็นอะไรที่ปกติสุดๆ

หากคุณไม่ค่อยเห็นมูกปากมดลูกก็ไม่ต้องกังวล นี่ก็เป็นเรื่องปกติเหมือนกัน

types of cervical mucus vira care

รอบเดือนที่แสดงถึงสุขภาพที่ดี มักจะมีรูปแบบดังต่อไปนี้ค่ะ

  • วันแรกของรอบเดือนจะเริ่มด้วยการมีประจำเดือน
  • หลังประจำเดือนหมด อาจมีวันที่ช่องคลอดแห้งและไม่มีมูกปากมดลูกออกมาที่บริเวณปากช่องคลอดมากนัก (ยกเว้นในกรณีที่รอบเดือนสั้น)
  • จากนั้นร่างกายจะเริ่มเปลี่ยนแปลง และมีมูกปากมดลูกออกมา สำหรับรอบเดือนในช่วงที่สุขภาพดี คุณจะเห็นมูกปากมดลูกประมาณ 5 วันก่อนไข่ตก
  • เมื่อไข่ตกแล้ว ช่องคลอดจะกลับมาแห้งจนถึงวันที่ประจำเดือนมาครั้งถัดไป แล้ววงจรนี้ก็จะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
  • นอกจากนี้ ยังมีรอบเดือนในรูปแบบอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีความเครียด หรือรอบเดือนมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะจากการหยุดยาคุมกำเนิด ภาวะหลังคลอดบุตร หรือระยะเริ่มต้นของวัยหมดประจำเดือน (perimenopause)

มูกปากมดลูกสำคัญอย่างไร?

คุณทราบไหมว่า การตกไข่จะเกิดขึ้นในวันเดียว และเมื่อไข่ถูกปล่อยออกมาจากท่อรังไข่ จะมีเวลาในการผสมพันธุ์เพียง 12–24 ชั่วโมง ฉะนั้นการที่ผู้หญิงจะตั้งครรภ์ได้จึงเป็นเรื่องเหลือเชื่อมากๆ!

แต่สาเหตุที่เรามีช่วงเจริญพันธุ์ยาวนานกว่า 24 ชั่วโมง เพราะร่างกายหลั่งมูกปากมดลูกออกมาก่อนไข่ตก ทำให้ช่วงเจริญพันธุ์หรือช่วงไข่ตกของเราในแต่ละรอบเดือนขยายออกไปอีกประมาณ 6 วัน เนื่องจากสภาพของมูกปากมดลูกเอื้อให้อสุจิมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 5 วัน หากไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ในช่วงเจริญพันธุ์ ผู้หญิงจะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้

ฉันจะอธิบายกระบวนการนี้ให้ฟังนะคะ

ปากมดลูกเปรียบเสมือนโรงแรมที่รองรับอสุจิ และช่วงเวลาเปิดปิดของโรงแรมก็ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนในรังไข่ และการผลิตมูกปากมดลูกของคุณ

เมื่อรังไข่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน และร่างกายเตรียมพร้อมสำหรับการตกไข่ ปากมดลูกจะตอบสนองโดยการผลิตมูกปากมดลูกเอสโตรเจนิค (หรือ E-Type) ซึ่งเป็นมูกที่สามารถพบเห็นได้บริเวณปากช่องคลอดและบนกระดาษชำระ ทำให้คุณทราบว่ากำลังเข้าสู่ช่วงเจริญพันธุ์ จากนั้นโรงแรมอสุจิจะเปิด ลองจินตนาการว่า มูกปากมดลูกเป็นดั่งพรมแดงที่ปูไว้ตลอดช่องคลอดเพื่อต้อนรับอสุจิ มีฤทธิ์ด่างที่เป็นมิตรกับอสุจิ ทั้งนี้ ค่า pH ของน้ำอสุจิจะอยู่ระหว่าง 7.2 ถึง 8.4 ซึ่งเทียบเท่ากับค่าเฉลี่ย pH 7 ของมูกปากมดลูก นอกจากนี้ มูกยังรวมกันเป็นช่องทางให้อสุจิว่ายน้ำผ่านช่องคลอดได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอสุจิทุกตัวจะผ่านเข้าไปผสมพันธุ์ได้ เพราะระบบรักษาความปลอดภัยของมูกจะคัดสรรผู้ที่จะได้ไปต่อ¹⁰

มูกปากมดลูกจะมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้อสุจิที่ผิดปกติหลุดรอดเข้าไป¹¹ ส่วนอสุจิที่โชคดีจะเตรียมผสมพันธุ์กับไข่ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การเข้าปฏิสนธิ (capacitation) ที่จะเกิดขึ้นภายในมูกปากมดลูก¹² เมื่ออสุจิแหวกว่ายจนไปถึงปากมดลูก พวกมันก็จะเช็คอินเข้าพักในโรงแรมได้นานถึง 5 วันเพื่อรอให้ไข่ตก

หลังจากการตกไข่ รังไข่จะผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งจะไปหยุดยั้งการผลิตมูกปากมดลูก¹³ โดยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะผลิตมูกปากมดลูกเจสตาเจนิค (หรือ G-Type) ซึ่งทำหน้าที่สร้างเมือกปิดช่องปากมดลูก และเป็นกำแพงกั้นระหว่างช่องคลอดและมดลูก¹⁴ จากนั้นค่า pH ของช่องคลอดจะเปลี่ยนเป็นกรดที่ไม่เป็นมิตรกับอสุจิ เท่ากับว่าโรงแรมอสุจิได้ปิดประตูงดรับแขก และอสุจิจะไม่สามารถทะลวงเมือกที่ปิดปากมดลูกเข้าไปได้ พวกมันจึงตายจากไปในล็อบบี้ของโรงแรมนั่นเอง

มูกเจสตาเจนิค G-Type หรือ โรงแรมอสุจิปิด

มูกเอสโตรเจนิค E-Type หรือ โรงแรมอสุจิเปิด

  • สร้างเมือกปิดปากมดลูก
  • ค่า pH เป็นกรด และไม่เอื้อต่อการมีชีวิตของอสุจิ
  • ทำหน้าที่เป็นกำแพงกั้นระหว่างช่องคลอดกับมดลูก
  • อสุจิจะตายภายในไม่กี่นาทีหลังการหลั่ง
  • ไม่พบเห็นมูกปากมดลูก
  • สร้างช่องทางน้ำที่ช่วยให้อสุจิว่ายไปถึงปากมดลูก
  • ค่า pH เป็นด่าง และเป็นมิตรกับอสุจิ
  • เหมาะสมต่อการมีชีวิตของอสุจิ และหล่อเลี้ยงอสุจิ
  • ช่วยให้อสุจิอาศัยอยู่ในปากมดลูกนานถึง 5 วัน
  • พบเห็นมูกปากมดลูกที่ปากช่องคลอด

ท้าพิสูจน์: มูกปากมดลูกทุกชนิดอยู่ในภาวะเจริญพันธุ์

ความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่คือ มูกปากมดลูกมีทั้งแบบที่อยู่และไม่อยู่ในภาวะเจริญพันธุ์ หรือมูกปากมดลูกบางชนิดเจริญพันธุ์มากกว่าชนิดอื่นๆ

ไม่ว่าจะเป็นมูกปากมดลูกชนิดไหน มีปริมาณเท่าไหร่ ก็อยู่ในภาวะเจริญพันธุ์!

ว่ากันอย่างง่ายคือ เมื่อเราพบเห็นมูกปากมดลูก ก็เท่ากับว่าปากมดลูกได้เปิดแล้วและไข่กำลังจะตกแน่ๆ การบอกว่ามูกปากมดลูกชนิดไหนอยู่ในภาวะเจริญพันธุ์มากกว่า ก็เหมือนบอกว่าบางคนตั้งครรภ์ ‘มากกว่า’ ซึ่งจริงๆ แล้วมีแค่ตั้งครรภ์ ‘หรือไม่’ แต่เราอาจพูดได้ว่า เรากำลังเข้าใกล้วันที่กำหนด ซึ่งหากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ก็จะมีโอกาสตั้งรรรภ์สูง

ยิ่งใกล้วันไข่ตกเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งมีโอกาสหลั่งมูกปากมดลูกที่อยู่ในภาวะเจริญพันธุ์สูงสุดมากขึ้นเท่านั้น บางคนไข่สุกทันทีที่มูกปากมดลูกอยู่ในภาวะเจริญพันธุ์สูงสุด (peak-type) แต่หลายคนอาจพบมูกปากมดลูกที่ยังไม่อยู่ในภาวะเจริญพันธุ์สูงสุดก่อน อสุจิสามารถมีชีวิตอยู่ในมูกที่ยังไม่อยู่ในภาวะเจริญพันธุ์สูงสุดได้หลายวันเพื่อรอไข่ตก¹⁵

peak type cervical mucus

มูกปากมดลูกที่อยู่ในภาวะเจริญพันธุ์สูงสุดจะมีสีใส ลักษณะเหมือนยางยืดหรือน้ำหล่อลื่น และมาพร้อมกับความรู้สึกลื่นๆ

non-peak type cervical mucus

มูกปากมดลูกที่ยังไม่ได้อยู่ในภาวะเจริญพันธุ์สูงสุดจะมีสีไม่ใส ไม่เหมือนยางยืดหรือน้ำหล่อลื่น แต่อาจเหนียวหนืด มีเนื้อข้น เป็นสีขาวขุ่น หรือสีเหลือง

ตอนนี้คุณอาจกำลังสงสัยว่า ทำไมต้องแยกมูกที่อยู่ในภาวะเจริญพันธุ์สูงสุดกับมูกที่ยังไม่อยู่ในภาวะเจริญพันธุ์สูงสุดให้ออก

นั่นก็เพราะมันจะช่วยยืนยันว่าไข่ตก เพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิ ทำให้การตั้งครรภ์เป็นไปตามที่วางแผน รวมทั้งยังช่วยเฝ้าสังเกตรอบเดือนและสุขภาพโดยรวมของคุณ

ทำไมต้องคอยตรวจดูมูกปากมดลูก?

การคอยเช็คมูกปากมดลูกจะช่วยให้คุณสามารถป้องกันหรือเดินหน้าตั้งครรภ์ได้โดยไม่ต้องไปพบแพทย์ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับการสืบพันธุ์และสุขภาพโดยรวมของคุณ

จากข้อมูลของงานวิจัยหนึ่ง พบว่าในบรรดาผู้ที่ต้องการรักษาภาวะเจริญพันธุ์ทั้งหมด มีเพียง 12.7% เท่านั้นที่สามารถระบุช่วงไข่สุกได้อย่างแม่นยำ¹⁶ มูกปากมดลูกคือสัญญาณที่สำคัญที่สุดของภาวะเจริญพันธุ์ การคอยเช็คมูกปากมดลูกจะช่วยให้คุณทราบว่า คุณเข้าสู่ช่วงไข่สุกแล้วหรือยัง และเมื่อไหร่ที่ช่วงเจริญพันธุ์สิ้นสุดลง (ซึ่งไม่เหมือนกับสัญญาณของภาวะเจริญพันธุ์ที่สำคัญรองลงมา อย่างอุณหภูมิกายขณะพักหรือ basal body temperature ที่ช่วยยืนยันได้เฉพาะช่วงที่ภาวะเจริญพันธุ์สิ้นสุด) การทราบช่วงเจริญพันธุ์ของตนเองจะช่วยให้มีโอกาสปฏิสนธิสำเร็จมากขึ้น

ทั้งนี้ คุณยังสามารถใช้ข้อมูลนี้ในอีกทางได้ด้วย นั่นคือเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ หากคุณสามารถระบุช่วงไข่ตก (ovulation) ได้และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนั้น ก็ถือว่าคุณได้คุมกำเนิดด้วยการนับระยะปลอดภัย (Fertility Awareness Method) เรียบร้อยแล้ว และหากทำอย่างถูกต้อง ก็จะมีประสิทธิภาพมากกว่า 99%¹⁷ ซึ่งเทียบเท่ายาคุมกำเนิด แต่ไม่มีผลข้างเคียง บางคนตั้งใจเรียนรู้ช่วงเจริญพันธุ์ของตัวเอง (fertility window) และเลือกใช้การคุมกำเนิดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะทราบดีว่ามีโอกาสตั้งครรภ์ได้

หากข้อดีข้างต้นยังไม่พอ จำไว้ว่ารอบเดือนนั้นเป็นสัญญาณชีพลำดับที่ห้า ถ้าคุณเข้าใจภาวะปกติต่างๆ ของร่างกาย คุณก็จะสามารถดูแลระบบสืบพันธุ์และสุขภาพโดยรวมของคุณได้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถสังเกตมูกปากมดลูกและลองทำตารางจดบันทึกรายเดือน เพื่อให้เห็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความสมดุลของฮอร์โมน ระดับความเครียด และโรคประจำตัวของคุณได้ด้วยนะ

เมื่อคุณเริ่มสนใจมูกปากมดลูกของตัวเอง ซึ่งฉันขอเรียกว่าเป็น ‘กิจวัตรมีสติสุดติ่งเฉพาะมนุษย์มีเมนส์เท่านั้นที่จะเข้าใจ’ บอกเลยว่าคุณจะได้รับประโยชน์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

แล้ววันนี้คุณเช็คมูกปากมดลูกหรือยังคะ?

อ้างอิง

1 Odeblad, Erik. "The discovery of different types of cervical mucus and the Billings Ovulation Method." Bulletin of the Natural Family Planning Council of Victoria 21, no. 3 (1994): 4; Klaus, Hanna. "Natural Family Planning - Is it Scientific? Is it Effective?" Newman Lecture Series 1 (2002): 6.
2 Hilgers, Thomas W. (2004). The Medical & Surgical Practice of NaPro Technology. Omaha, NE: Pope Paul VI Institute Press, 185-186.
3 Pommerenke, W.T. “Cyclic changes in the physical and chemical properties of cervical mucus.” American Journal of Obstetrics and Gynecology 52, no. 6 (1946): 1023-1031.

4 Odeblad, Erik. "The discovery of different types of cervical mucus and the Billings Ovulation Method." Bulletin of the Natural Family Planning Council of Victoria 21, no. 3 (1994): 3-31; Hilgers, Thomas W. (2004). The Medical & Surgical Practice of NaPro Technology. Omaha, NE: Pope Paul VI Institute Press, 203-205.
5 Depares, J., R.E. Ryder, S.M. Walker, M.F. Scanlon, and C.M. Norman. “Ovarian ultrasonography highlights precision of symptoms of ovulation as markers of ovulation.” British Medical Journal (Clinical Research Ed.) 292, no. 6536 (1986): 1562.
6 Fehring, Richard J., Mary Schneider, and Kathleen Raviele. “Variability in the phases of the menstrual cycle.” Journal of Obstetric, Gynecologic, & Neonatal Nursing 35, no 3 (2006): 376-384.
7 Stein, I.R., and Melvin R. Cohen. “Sperm survival at estimated ovulation time: prognostic significance.” Fertility and Obstetric Investigation 6, no. 3-4 (1975): 206-214.
8 Odeblad, Erik. "The discovery of different types of cervical mucus and the Billings Ovulation Method." Bulletin of the Natural Family Planning Council of Victoria 21, no. 3 (1994): 8-13; Moghissi, Kamran S. “The function of the cervix in fertility.” Fertility and Sterility 23, no. 4 (1972): 295-306.
9 Haugen, T.B., and T. Grotmol. “pH of human semen.” International Journal of Andrology 21, no. 2 (1998): 105-108; Eggert-Kruse, Waltraud, Andreas Köhler, Gerhard Rohr, and Benno Runnebaum. “The pH as an important determinant of sperm-mucus interaction.” Fertility and Sterility 59, no. 3 (1993): 617-628; Stein, Irving F., and Melvin R. Cohen. “Sperm survival at estimated ovulation time: prognostic significance.” Fertility and Sterility I, no 2 (1950): 169-175; Ahlgren, Mats. “Sperm transport to and survival in the human Fallopian tube.” Gynecological and Obstetric Investigation 6, no. 3-4 (1975): 206-214.
10 Menarguez, Mikaela, Erik Odeblad, and Helvia Temprano. “Recent Research in Cervical Secretion: Some Biophysical Aspects.” Sveikatos Mokslai/Health Sciences 21, no. 3 (75) (2011): 55-60.
11 Odeblad, E. A. Ingelman-Sundberg, L. Hallstrom, A. Hoglund, U. Leppanen, K. Lisspers, E. Perenyi, K. Rudolfsson-Asberg, K. Sahlin, and C. Lindstrom-Sjorgren. “The biophysical properties of cervical-vaginal secretions.” International Review of Natural Family Planning 7, no. 1 (1983): 1-56
12 Lambert, Hovey, James W. Overstreet, Patricio Morales, Frederick W. Hanson, and Ryuzo Yanagimachi. “Sperm capacitation in the human female reproductive tract.” Fertility and Sterility 43, no. 2 (1985): 325-327.
13 Odeblad, Erik. "The discovery of different types of cervical mucus and the Billings Ovulation Method." Bulletin of the Natural Family Planning Council of Victoria 21, no. 3 (1994): 13.
14 Odeblad, Erik. “The functional structure of human cervical mucus.” Acta Obstetrica et Gynecologia Scandinavica 47, no. SI (1968): 57-79.
15 Odeblad, E. “Investigation on the physiological basis for fertility awareness method.” Bulletin of the Ovulation Method Research and Reference Centre of Australia 29, no. 1 (2002): 2-11. 
16 Mahey, R., Gupta, M., Kandpal, S., Malhotra, N., Vanamail, P., Singh, N., & Kriplani, A. “Fertility awareness and knowledge among Indian women attending an infertility clinic: a cross-sectional study.” BMC women's health 18, no. 1 (2018): 177. 
17 Frank-Herrmann, J. Heil, C. Gnoth, E. Toledo, S. Baur, C. Pyper, E. Jenetzky, T. Strowitzki, G. Freundl. “The effectiveness of a fertility awareness based method to avoid pregnancy in relation to a couple's sexual behaviour during the fertile time: a prospective longitudinal study.” Human Reproduction 22, no. 5, (2007).