รู้จัก ‘เชื้อราในช่องคลอด’ ดีพอหรือยัง?

โดย Proof

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีเชื้อราในช่องคลอด หากรู้สึกไม่สบายบริเวณช่องคลอด ลองหาคำตอบดูนะว่าเป็นเพราะติดเชื้อราหรืออย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) หรือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (UTI) มาดูกันสิว่า เชื้อราในช่องคลอดมีลักษณะอย่างไร และต่างจาก UTI หรือ STD อย่างไรบ้าง

จะรู้ได้อย่างไรว่ามีเชื้อราในช่องคลอด?

การติดเชื้อยีสต์ (yeast infection) คือการติดเชื้อราที่ทำให้รู้สึกระคายเคืองในช่องคลอดและมีตกขาว (vaginal discharge) สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ การเจริญเติบโตที่มากเกินไปของเชื้อรา Candida albicans ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไมโครไบโอมในช่องคลอด ไมโครไบโอมในช่องคลอดประกอบด้วยจุลินทรีย์จำนวนมาก รวมถึงยีสต์และแบคทีเรียหลายชนิดที่ช่วยรักษาความสมดุลของช่องคลอด โดยความไม่สมดุลของช่องคลอดสามารถนำไปสู่การติดเชื้อราในช่องคลอดได้ สาเหตุอาจมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะ การตั้งครรภ์ โรคเบาหวาน ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และฮอร์โมนเอสโตรเจนที่อยู่ในระดับสูง

หากติดเชื้อราในช่องคลอดจะมีอาการอย่างไร?

เมื่อรู้สึกไม่สบายบริเวณช่องคลอด ลองสังเกตดูว่าคุณมีอาการเหล่านี้บ้างไหม

  • รู้สึกคันและระคายเคือง (รวมถึงมีอาการบวมแดง) บริเวณช่องคลอดและปากมดลูก
  • รู้สึกแสบร้อน โดยเฉพาะเวลามีเพศสัมพันธ์หรือปัสสาวะ
  • รู้สึกเจ็บปวดบริเวณช่องคลอด
  • มีผื่นบริเวณช่องคลอด
  • มีตกขาวหนืดข้น เป็นสีขาว และมักจะไม่มีกลิ่น (ผิวสัมผัสมักจะคล้ายกับคอตเทจชีส)
  • มีตกขาวบางๆ ปริมาณมาก และอาจมีกลิ่น

การติดเชื้อในช่องคลอดนับว่าเป็นอาการผิดปกติเล็กน้อยหรือปานกลาง จะนับว่าเป็นกรณีรุนแรงหรือซับซ้อนก็ต่อเมื่อมีอาการมาก เช่น ติดเชื้อปีละมากกว่า 4 ครั้ง ติดเชื้อราชนิดที่พบได้ยากกว่า Candida albicans (ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อส่วนใหญ่) หรือมีสาเหตุจากปัจจัยอื่นๆ เช่น การตั้งครรภ์ โรคเบาหวาน และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

อาการแตกต่างกับ ‘โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ’ อย่างไร?

การติดเชื้อราในช่องคลอดมีสาเหตุจากการเจริญเติบโตที่มากเกินไปของเชื้อราแคนดิดา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไมโครไบโอมในช่องคลอด ส่วนโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (UTI) คือการติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่ใช่เชื้อรา แม้ทั้งคู่จะทำให้รู้สึกไม่สบาย แต่อาการนั้นต่างกันอย่างชัดเจน โดย UTI จะทำให้รู้สึกเจ็บปวดขณะปัสสาวะ และรู้สึกว่าต้องปัสสาวะเรื่อยๆ แต่หากรู้สึกเจ็บปวดระหว่างปัสสาวะโดยมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการคัน หรือปวดบวมบริเวณช่องคลอด นั่นอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อราในช่องคลอด

อาการแตกต่างกับ ‘โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์’ อย่างไร?

แม้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) บางโรคจะมีอาการคล้ายกับการติดเชื้อราในช่องคลอด แต่ก็มีจุดสังเกตที่บอกได้ว่าคุณกำลังรู้สึกไม่สบายจากอาการไหน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ทำให้รู้สึกระคายเคือง คัน และเกิดความเปลี่ยนแปลงกับตกขาวได้ก็เช่น เริม หูดที่อวัยวะเพศ และโรคพยาธิในช่องคลอด การสังเกตลักษณะของตกขาว ทั้งสี เนื้อสัมผัส และกลิ่น จะช่วยให้พอบอกความแตกต่างได้ ส่วนโรคหนองในจะทำให้รู้สึกแสบร้อนตอนปัสสาวะเหมือนกับการติดเชื้อรา แต่ผู้ติดเชื้อรามักจะมีอาการอื่นด้วย เช่น คันบริเวณช่องคลอด แต่ถ้ายังไม่แน่ใจ เราแนะนำให้คุณปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพราะแต่ละอาการมีวิธีรักษาต่างกันไป หรือหากสงสัยว่าจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ให้รีบปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

วิธีป้องกันหรือรักษาอาการติดเชื้อราทางช่องคลอด

แม้จะควบคุมปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดไม่ได้ แต่เราสามารถทำสิ่งต่อไปนี้เพื่อลดความถี่ในการติดเชื้อราได้ เช่น ลองสวมใส่กางเกงในผ้าฝ้ายที่ไม่คับเกินไป หรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมต่อไปนี้

  • สวมถุงน่องที่รัดแน่นจนเกินไป
  • ฉีดล้างอวัยวะเพศ (douching)
  • ใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้หญิงที่มีกลิ่น เช่น สบู่ทำฟองสำหรับแช่ตัว ผ้าอนามัยแบบแผ่นหรือแบบสอด
  • แช่น้ำร้อน หรือน้ำร้อนจัด
  • ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น
  • สวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้นเป็นเวลานาน

การวินิจฉัยที่ถูกต้องสำคัญมากต่อการรักษา อย่าลืมแจ้งข้อมูลกับแพทย์ให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเริ่มจากการจดบันทึกสิ่งเหล่านี้

  • คุณมีอาการอย่างไร
  • คุณมีอาการมานานเท่าไหร่
  • ตกขาวของคุณมีกลิ่นไหม
  • คุณเคยติดเชื้อใดๆ ในช่องคลอดมาก่อนหรือไม่
  • คุณเคยซื้อยาทานเองก่อนมาพบแพทย์หรือไม่
  • คุณใช้ยาปฏิชีวนะใดๆ ก่อนมาพบแพทย์หรือไม่
  • คุณทำกิจกรรมทางเพศเป็นปกติหรือไม่
  • คุณตั้งครรภ์หรือไม่
  • คุณใช้ผลิตภัณฑ์อนามัยที่มีกลิ่นหรือไม่ (เช่น สบู่ สบู่ทำฟอง หรือสเปรย์)

คำถามที่ควรถามแพทย์ของคุณ

เตรียมคำถามที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาไว้ล่วงหน้าก่อนพบแพทย์ เช่น

  • คุณจำเป็นต้องทานยาไหม
  • มีคำแนะนำพิเศษในการใช้ยาไหม
  • ยาที่ต้องใช้มีขายในร้านขายยาหรือไม่
  • หากกลับมามีอาการอีกครั้ง ต้องดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง
  • เพื่อไม่ให้เกิดอาการซ้ำอีก คุณควรปรับไลฟ์สไตล์อย่างไรบ้าง

วิธีการรักษาการติดเชื้อราในช่องคลอด

รูปแบบการรักษาจะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของอาการ หากมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง แพทย์อาจจ่ายยาฆ่าเชื้อราเฉพาะที่ให้ทาราว 3-7 วัน หรือให้ทานยาแบบโดสเดียวจบ หากมีอาการรุนแรง อาจต้องรักษาช่องคลอดด้วยยาฆ่าเชื้อราทุกวัน นานสองสัปดาห์ ต่อด้วยสัปดาห์ละครั้ง นาน 6 เดือน อีกทางเลือกคือทานยาแบบหลายโดสติดต่อกัน แต่หากวิธีเหล่านี้ไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการสอดแคปซูลกรดบอริกเข้าไปในช่องคลอด

วิธีรักษาการติดเชื้อในช่องคลอดแต่ละชนิด (ไม่ว่าจะเป็นเชื้อราหรืออย่างอื่น) ก็แตกต่างกันไป ลองติดต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะกับอาการของคุณนะคะ