‘เลือดประจำเดือน’ กับ ‘เลือดกะปริดกะปรอย’ ต่างกันยังไงนะ?
โดย Proof

ภาพ: Ashley Armitage
ผู้มีประจำเดือนแต่ละคนมีรอบเดือนไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่เรามักจะเริ่มนับจากวันแรกที่มีประจำเดือนจนถึงวันแรกของประจำเดือนรอบถัดไปค่ะ ประจำเดือนจะมาทุก 21-35 วัน และมักจะมาติดต่อกัน 3-7 วัน
โดยทั่วไป ประจำเดือนจะมามากเพียง 2-7 วัน แต่บางคนอาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยระหว่างนั้น ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องปกติ แต่เลือดกะปริดกะปรอยเป็นคนละอย่างกับเลือดประจำเดือน และมีสาเหตุมาจากหลากหลายปัจจัยเลยค่ะ
เลือดกะปริดกะปรอยคืออะไร?
การแยกเลือดประจำเดือนกับเลือดที่ไหลออกจากช่องคลอดให้ออกนั้นสำคัญนะ เพราะเลือดกะปริดกะปรอยคือเลือดปริมาณเล็กน้อย ที่ไม่ได้ไหลออกมาอย่างสม่ำเสมอตามรอบเดือน
เราอาจจะไม่ได้มีเลือดไหลออกมาแบบหาสาเหตุไม่ได้บ่อยๆ แต่เลือดกะปริดกะปรอยที่มาจากความเปลี่ยนแปลงของร่างกายระหว่างรอบเดือน (เช่น การตกไข่) เป็นเรื่องปกติ และมาจากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอะไรน่ากังวลค่ะ
ลักษณะของเลือดกะปริดปะปรอย
เลือดกะปริดปะปรอยมีลักษณะตามชื่อเรียกเลย นั่นคือเป็นเลือดสีแดงหรือสีน้ำตาลที่ไหลเปรอะกางเกงชั้นในเป็นหยดๆ ความแตกต่างระหว่างเลือดกะปริดกะปรอยกับเลือดประจำเดือนคือ เลือดกะปริดกะปรอยจะมีปริมาตรน้อยกว่ามากและมักจะมีสีเข้มกว่า เป็นเลือดที่ออกเพียงเล็กน้อย จนแค่สวมกางเกงในอนามัยหรือแผ่นอนามัยก็เพียงพอ
ความแตกต่างระหว่าง ‘เลือดประจำเดือน’ กับ ‘เลือดกะปริดกะปรอย’
เลือดทั้งสองชนิดมีลักษณะคล้ายกันมาก เราเลยอาจจะแยกไม่ค่อยออก แต่จริงๆ ผิวสัมผัสของเลือดประจำเดือนมักจะเหนียวและหนืดข้น ส่วนเลือดกะปริดกะปรอยเป็นเพียงเลือดจางๆ นอกจากนั้น เลือดกะปริดกะปรอยจะไม่ทำให้เราไม่สบายตัวหรือปวดตามร่างกาย ในขณะที่ประจำเดือนมักจะทำให้เราปวดหน่วง ท้องอืด และรู้สึกไม่ค่อยสบาย
อีกหนึ่งความแตกต่างคือที่มาของเลือด เลือดประจำเดือนจะออกมาตามรอบเดือนเมื่อเยื่อบุโพรงมดลูกลอกหลุดออกมา ส่วนเลือดกะปริดกะปรอยอาจมาจากอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนบนหรือส่วนล่าง เช่น ปากมดลูก หรือช่องคลอด
เลือดกะปริดกะปรอยหลังประจำเดือนหมดมาจากอะไร?
ผู้มีประจำเดือนอาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยเป็นครั้งคราว โดยมาจากหลายสาเหตุค่ะ
- เพิ่งเริ่มทานยาคุมกำเนิด เปลี่ยนชนิดยาคุมกำเนิด หรือเพิ่งทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน
- เพิ่งใส่ห่วงคุมกำเนิด (IUD) หรือตรวจร่างกายกับแพทย์
- เลือดออกกะปริดกะปรอยเป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ที่เพิ่งติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (STD) หรือมีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (PID)
- เลือดออกกะปริดกะปรอยอาจมาจากปัจจัยภายนอก เช่น อารมณ์เครียด ซึ่งส่งผลต่อระดับฮอร์โมนในร่างกาย
- สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ เช่น การตกไข่ การที่ร่างกายขับเลือดล้างหน้าเด็กออกมา การแท้งลูก การให้นมลูก และการตั้งครรภ์นอกมดลูก ระหว่างการตั้งครรภ์ อาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยในช่วงที่ปกติแล้วผู้ตั้งครรภ์มีประจำเดือน
- เนื้องอกในมดลูกชนิดไม่ร้ายแรง (uterine fibroids หรือ polyps) ก็สามารถทำให้เลือดออกกะปริดกะปรอยได้
- เลือดสามารถออกกะปริดกะปรอยได้บ้างในระยะต้นของการหมดประจำเดือนหรือช่วงหมดประจำเดือน รวมถึงในผู้ที่มีภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) และภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis)
- การมีเพศสัมพันธ์อย่างรุนแรงอาจทำให้เนื้อเยื่อช่องคลอดบางส่วนถูกทำลาย และเกิดเลือดออกกะปริดกะปรอยได้
อาจมีสาเหตุอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา และไม่ได้หมายความว่า ทุกคนที่มีอาการเหล่านี้จะมีเลือดออก หากไม่แน่ใจ ลองจดบันทึกเกี่ยวกับรอบเดือน เพื่อให้รู้ทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายคุณนะคะ
อาการเลือดออกกะปริดกะปรอยมักจะนานกี่วัน?
เลือดกะปริดกะปรอยไม่ได้ออกมาบ่อยๆ และมีสาเหตุจากตัวแปรมากมาย จึงบอกได้ยากว่าจะมีอาการนานกี่วัน แต่โดยทั่วไปเป็นได้ตั้งแต่เลือดออกครั้งเดียว จนถึงออกเล็กน้อยเรื่อยๆ นาน 7 วัน
เลือดสีน้ำตาลหลังประจำเดือนหมดคืออาการอะไร และมีสาเหตุจากอะไร?
เมื่อมีเลือดไหลออกมาจากร่างกาย เรามักจะรู้สึกได้ และมักจะนึกภาพมันเป็นสีแดง แต่จริงๆ แล้ว มันอาจจะเป็นสีน้ำตาล ตกขาวสีน้ำตาลเป็นเรื่องปกติและไม่น่ากังวล เพราะเป็นเพียงเลือดตกค้างจากตอนที่ช่องคลอดทำความสะอาดตัวเองเตรียมรับเลือดประจำเดือน
เมื่อไหร่ถึงควรจะไปพบแพทย์?
ไม่แปลกที่เราจะแพนิคเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย แต่อาการเลือดออกกะปริดกะปรอยส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เว้นแต่คุณจะเป็นคนกังวลง่ายอยู่แล้ว ลองไปพบแพทย์ไว้ให้สบายใจก็ไม่เสียหาย
แต่ถ้าคุณมีอาการเลือดออกกะปริดกะปรอยควบคู่กับอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์นะคะ
- ปวดท้องหรือปวดประจำเดือนมากกว่าปกติ
- ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
- ประจำเดือนมามาก หรือมีลิ่มเลือดมากกว่าปกติ
- ปวดแสบปวดร้อนเมื่อปัสสาวะ
- ตกขาวมีลักษณะผิดปกติ
- มีความสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์
แพทย์มักจะอยากทราบว่า คุณมีอาการมานานเท่าไหร่ บ่อยแค่ไหน เลือดออกกะปริดกะปรอยครั้งละกี่วัน เลือดออกมากไหม และมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เลือดออกบ้างไหม เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรง
แม้เราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันไม่ให้เกิดอาการเลือดออกกะปริดกะปรอยได้ แต่เราสามารถลดความเสี่ยงได้ โดยคงไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ดี รวมถึงออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพกาย สุขภาพใจ และลดความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ฮอร์โมนไม่คงที่ นำไปสู่อาการเลือดออกกะปริดกะปรอยได้
หากคุณตกอยู่ในภาวะเครียดหรือวิตกกังวลเมื่อสังเกตเห็นอาการผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ ให้รู้ไว้ว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้มากๆ แต่อย่าเพิ่งคิดไปไกลว่าจะเกิดอะไรร้ายแรง ลองจดบันทึกเกี่ยวกับประจำเดือนและความรู้สึกที่เกิดกับร่างกายของคุณดูก่อน และหากมีข้อสงสัย ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญดูนะคะ